วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556




ผลงานของสุนทรภู่  แก่นของเรื่องคือ  รัก  โลภ  โกรธ  หลง
                                                                                                        ก.กิตติ

เรื่องพระอภัยมณี  คือ   ความรัก
เรื่องพระอภัยมณี  คือ  ความรัก เพราะ นิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี มีคติสอนใจแทรกอยู่ตลอดเรื่อง  ซึ่งล้วนมีที่มาจากประสบการณ์ของสุนทรภู่เป็นส่วนใหญ่  พระอภัยมณีตอน พระอภัยหนีนางผีเสื้อ สะท้อนให้เห็นถึงอานุภาพของความรักที่อาจทำลายหรือสร้างสรรค์ก็ได้ เช่นรักของนางยักษ์เป็นรักที่เกิดจากความหลง เป็นความรักที่ต้องการการครอบครองเป็นเจ้าของ มิใช่เป็นรักที่เสียสละ  และแสดงให้เห็นว่า บางครั้งเมื่อรักไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ ความรักอาจแปรเปลี่ยนเป็นความแค้นได้  รักมากก็แค้นมากดังเช่นนางยักษ์  เป็นต้น 
ส่วนตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่สร้างสรรค์ก็มี
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความรัก  เช่นพระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง (จากตอนที่ 36)
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร              ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร                                      ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ                          พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา                                   เชยผกาโกสุมประทุมทอง
แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์                            จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง                   เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

เรื่องกาพย์พระไชยสุริยา  คือ  ความโลภ
เรื่องกาพย์พระไชยสุริยา คือ ความโลภ  เพราะพระไชยสุริยาเป็นกษัตริย์ครองเมืองสาวัตถีมีมเหสีชื่อสุมาลี บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ และเป็นสุขมาช้านานจนกระทั่งเมื่อข้าราชบริพารและผู้มีอำนาจพากันลุ่มหลงในอบายมุข และเที่ยวข่มเหงราษฎรจนเดือดร้อนไปทั่ว ในที่สุดน้ำป่าก็ไหลบ่าท่วมเมืองจนผู้คนล้มตายผู้ที่มีชีวิตรอดก็หนีออกจากเมืองไป ทิ้งสาวัตถีกลายเป็นเมืองร้าง

 พระไชยสุริยาพามเหสีและข้าราชบริพารหนีลงเรือสำเภาออกจากเมืองแต่ถูกพายุใหญ่ พัดเรือแตก พระไชยสุริยากับนางสุมาลีว่ายน้ำไปขึ้นฝั่งแล้วรอนแรมไปในป่า พระดาบส รูปหนึ่งเข้าฌานเห็นพระไชยสุริยากับนางสุมาลีต้องทนทุกข์ทรมานก็เวทนาเพราะเห็นว่าพระไชยสุริยาทรงเป็นกษัตริย์ที่ดี แต่ประสบเคราะห์กรรมเพราะหลงเชื่อเสนา อำมาตย์   จึงเทศนาโปรดจนทั้งสองศรัทธาและบำเพ็ญธรรมจนได้ไปเกิดบนสวรรค์

เรื่องอภัยนุราช คือ ความโกรธ
เรื่องพระอภัยนุราช คือ ความโกรธ  เพราะ พระเจ้าอภัยนุราช  กษัตริย์เมืองรมเยศ  มีพระมเหสีพระนามว่า  ทิพมาลี  และพระโอรสพระนามว่า  พระอนันต์  พระธิดาพระนามว่า  วรรณนา
พระเจ้าอภัยนุราชไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  วันหนึ่งเมื่อเสด็จประพาสป่าได้เผาศาลเทพารักษ์   เทพารักษ์พิโรธ  จึงเข้าสิงนางศรีสาหงหญิงอัปลักษณ์  แล้วทำอุบายให้พระอภัยนุราชหลงใหล
พระเจ้าอภัยนุราชตกอยู่ในความลุ่มหลงอย่างรุนแรง  ถึงขนาดควักลูกตารมเหสีตามความประสงค์ของนางศรีหงสา  ไม่รู้จักถูกผิด  ผลสุดท้ายพระเจ้าอภัยนุราชได้ครองราชย์สมบัติกับนางศรีหงสา
ตัวอย่างบทกลอนจากเรื่อง พระอภัยนุราช ที่แสดงให้เห็นถึงความโกรธแค้นของพระมเหสีต่อนางศรีสาหง ที่อวดดีมานั่งแทนที่ตำแหน่งพระมเหสีเอกเทียมพระอภัยนุราช
                                ได้ฟัง                                     แค้นคั่งดังว่าเลือดตาไหล
เหลือที่จะสะกดอดใจ                                         มันฮึกฮักซักไซ้กลับไล่เลียง
จึงชี้หน้าว่าแน่อีแก่แรด                                      วาสนายาแฝดผูกแผดเสียง
เห็นทรงศักดิ์รักใคร่ใกล้เคียง                            มาทุ่มเถียงลามเลียมเทียมทัด
กูเป็นพระมเหสีเอก                                            ร่วมที่ภิเษกเอกฉัตร
มึงชาติข้ามานั่งบัลลังก์รัตน์                              เท้าแขนแอ่นหยัดดัดทรง
เชื่อดีผีสิงอีกิ้งก่า                                                  พูดจาปั้นเจ๋อเห็นเธอหลง
ขึ้นนั่งแท่นแม้นดื้อถือทะนง                            จะถีบส่งลงให้สาใจมึง



ตัวอย่างบทกลอน ที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำของนางศรีสาหงหลังจากที่พระมเหสีได้ต่อว่าและทำร้ายนาง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความโกรธนั่นเอง
บัดนั้น                                  พวกโขลนจ่าว้ารุนหน้าหลัง
ฉุดคร่าพานางไปกลางวัง                                  พระลูกทั้งสองวิ่งเข้าชิงไว้
พวกท้าวนางต่างเหนี่ยวหน่อกษัตริย์              กอดกระหวัดไว้สิ้นดิ้นไม่ไหว
               ต่างผูกมัดรัดองค์อรไท                                       ยุดไว้ให้ตึงตรึงตรา
                แล้วแขวะควักจักขุเลือดพุพลุ่ง                          นางสะดุ้งร้องกรีดหวีดผวา
                เอาพานทองรองแก้วแววตา                              นางพญาเสือกซบสลบลง ฯ

เรื่องลักษณวงศ์  คือ  ความหลง
เรื่องลักษณวงศ์  คือ  ความหลง  เพราะ  เนื้อเรื่องกล่าวถึง ท้าวพรหมทัต มีมเหสี ชื่อ สุวรรณอำภา และมีพระราชโอรส ชื่อ ลักษณวงศ์ ทรงพามเหสีพร้อมด้วยพระราชโอรสเสด็จประพาสป่า ได้พบนางยักษ์แปลงเป็นสาวสวยทำเล่ห์กลจนท้าวพรหมทัตลุ่มหลง ต่อมาจึงสั่ง ประหาร มเหสี และพระโอรส แต่เพชฌฆาตสงสารจึงปล่อยไป นางสุวรรณอำภาถูกพระยายักษ์พาตัวไป ฤๅษีนำลักษณวงศ์ไปเลี้ยงคู่กับนางทิพย์เกสร เมื่อโตขึ้นเรียนวิชาจนสำเร็จและได้นางทิพย์เกสรเป็นชายา ได้ฝากนางไว้กับฤๅษี ออกตามหามารดาจนพบและ กู้บ้านเมืองได้ และได้นางยี่สุ่น เป็นชายา นางทิพย์เกสรปลอมเป็นพราหมณ์ติดตามมาพบพระลักษณวงศ์ ด้วยความน้อยใจ จึงไม่แสดงตนให้พระลักษณวงศ์รู้ นางยี่สุ่นริษยาที่สามี ใส่ใจพราหมณ์มากจึงวางอุบาย กำจัดพราหมณ์เกสร ในที่สุดพราหมณ์ถูกประหาร ร่างของนางจึงกายเป็นหญิง ลักษณวงศ์จึงเสียใจมาก

วิเคราะห์เสภาขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม
ด้านรสวรรณคดี และโวหารภาพพจน์
                                                                                    ก.กิตติ

ตัวอย่างบางบทของ  เสภาขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม
                        เจ้าพลายงามความแสนสงสารแม่       ชำเลืองแลดูหน้าน้ำตาไหล
แล้วกราบกรานมารดาด้วยอาลัย                     ลูกเติบใหญ่คงจะมาหาแม่คุณ
แต่ครั้งนี้มีกรรมจะจำจาก                                ต้องพลัดพรากแม่ไปเพราะไอ้ขุน
เที่ยวหาพ่อขอให้ปะเดชะบุญ                          ไม่ลืมคุณมารดาจะมาเยือน
แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก                                    คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน                         จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว
แม่วันทองของลูกจงกลับบ้าน                         เขาจะพาลว้าวุ่นแม่ทูนหัว
จะก้มหน้าลาไปมิได้กลัว                                 แม่อย่ามัวหมองนักจงหักใจ
              นางกอดจูบลูบหลังแล้วสั่งสอน                      อำนวยพรพลายน้อยละห้อยไห้
พ่อไปดีศรีสวัสดิ์กำจัดภัย                                จนเติบใหญ่ยิ่งยวดได้บวชเรียน
ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ                               เจ้าจงอุตส่าห์ทำสม่ำเสมียน
แล้วพาลูกออกมาข้างท่าเกวียน                      จะจากเจียนใจขาดอนาถใจ
ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                                         ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย                                  แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น                          แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญาณ์               โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง


ถอดคำประพันธ์   
         นางวันทองพาพลายงามไปฝากวัดฝ่ายพลายงามนั้นเมื่อรู้ว่าขุนช้างไม่ใช่พ่อของตน ก็ลาแม่ไปอยู่กับย่าที่กาญจนบุรี  นางวันทองกลัวขุนช้างจะตามมา จึงพาพลายงามไปฝากกับขรัวนาก สมภารวัดเขาพร้อมกับเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง  สมภารก็รับปากว่าจะดูแลให้ จนถึงเช้านางวันทองก็ห่อผ้าใส่ผ้าผ่อน  ขนม  มาให้แล้วบอกทางไปบ้านย่าที่กาญจนบุรี  พลายงามกราบลานางวันทอง แล้วบอกว่าตนจะไปหาพ่อให้พบ  ส่วนแม่นั้นแม้ว่าตนจะไม่อยู่ด้วยก็รักเสมอ  วันข้างหน้าจะกลับมาเยี่ยม

รสในวรรณคดีที่ปรากฏในคำประพันธ์
          รสสัลลาปังคพิสัย  ได้แก่บทพรรณนาถึงความโศกเศร้า คร่ำครวญเมื่อไม่สมหวัง ถูกพรากจากสิ่งรัก สูญเสียของรักทำให้เกิดอารมณ์โศกเศร้า ซึ่งบทประพันธ์ดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงความรักของแม่และลูก ที่จะต้องพลัดพรากจากกันไป
          ศฤงคารรส (รสแห่งความรัก) คือ ความซาบซึ้งในความรัก เป็นรสที่เกิดจากการรับรู้เรื่องราวความรักของตัวละคร มีทั้งความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ความรักของหนุ่มสาว
ความรักที่ปรากฏอย่างชัดเจนในบทประพันธ์ดังกล่าว ได้แก่ ความรักของแม่ลูก คือ ความรักของผู้ที่พลัดพรากจากกันหรืออยู่ห่างกันเป็นความรักที่ผิดหวัง (วิประลัมละ)
           กรุณารส (รสแห่งความเมตตากรุณาที่เกิดภายหลังความเศร้าโศก) คือ ความสงสาร เป็นรสที่เกิดจากการได้รับรู้ความทุกข์โศกของตัวละคร แล้วก่อให้เกิดความสงสาร เห็นใจ ปรารถนาจะช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ที่มาจากต้นเหตุต่างๆ กัน
           ภยานกรส (รสแห่งความกลัว ตื่นเต้นตกใจ)  คือ ความเกรงกลัว เป็นรสที่เกิดจากการรับรู้ความน่ากลัว  ได้แก่ ความกลัวที่เกิดจากการลงโทษ คือ นางวันทองกลัวขุนช้างจะตามมา จึงพาพลายงามไปฝากกับขรัวนาก สมภาร


โวหารภาพพจน์ที่ปรากฏในคำประพันธ์
พรรณนาโวหาร
          พรรณนาโวหาร คือ โวหารที่กล่าวถึงความงามของธรรมชาติ สถานที่ หรือ ความรู้สึกนึกคิดอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้ง และเกิดอารมณ์ความรู้สึก คล้อยตาม โดยใช้ถ้อยคำที่มีความไพเราะ และความหมายที่ลึกซึ้ง น่าสนใจ ให้ผู้อ่าน ประทับใจ
          ซึ่งบทประพันธ์ดังกล่าวพรรณนา นั้นก็เป็นการเรื่องเล่า ความรู้สึกก่อนเก่า สอดแทรก
ความนัย   อารมณ์ซาบซึ้งถึงความในใจ ถ่ายทอดออกไป เพื่อระบายอารมณ์ พรรณนาให้เห็น ภาพเป็นอย่างไร น้ำตารินไหล อกใจขื่นขม  ได้เป็นอย่างดี

อุปมาโวหาร 
             อุปมา  คือ  การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า    เหมือน ”    เช่น   ดุจ  ดั่ง  ราว  ราวกับ  เปรียบ  ประดุจ  เฉก  เล่ห์  ปาน  ประหนึ่ง  เพียง  เพี้ยง  พ่าง  ปูน  ถนัด  ละหม้าย  เสมอ  กล  อย่าง  ฯลฯ
ตัวอย่างจากบทประพันธ์ดังกล่าว
ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                                       ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล"

อุปลักษณ์  ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน  แต่เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  มักจะมีคำ  เป็น  คือ
ตัวอย่างจากบทประพันธ์ดังกล่าว
ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ                               เจ้าจงอุตส่าห์ทำสม่ำเสมียน

อติพจน์ หรือ อธิพจน์  คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อสร้างและเน้นความรู้สึกและอารมณ์   ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง   ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด  เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างจากบทประพันธ์ดังกล่าว
ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                                       ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล"