วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


วิเคราะห์เสภาขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม
ด้านรสวรรณคดี และโวหารภาพพจน์
                                                                                    ก.กิตติ

ตัวอย่างบางบทของ  เสภาขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม
                        เจ้าพลายงามความแสนสงสารแม่       ชำเลืองแลดูหน้าน้ำตาไหล
แล้วกราบกรานมารดาด้วยอาลัย                     ลูกเติบใหญ่คงจะมาหาแม่คุณ
แต่ครั้งนี้มีกรรมจะจำจาก                                ต้องพลัดพรากแม่ไปเพราะไอ้ขุน
เที่ยวหาพ่อขอให้ปะเดชะบุญ                          ไม่ลืมคุณมารดาจะมาเยือน
แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก                                    คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน                         จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว
แม่วันทองของลูกจงกลับบ้าน                         เขาจะพาลว้าวุ่นแม่ทูนหัว
จะก้มหน้าลาไปมิได้กลัว                                 แม่อย่ามัวหมองนักจงหักใจ
              นางกอดจูบลูบหลังแล้วสั่งสอน                      อำนวยพรพลายน้อยละห้อยไห้
พ่อไปดีศรีสวัสดิ์กำจัดภัย                                จนเติบใหญ่ยิ่งยวดได้บวชเรียน
ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ                               เจ้าจงอุตส่าห์ทำสม่ำเสมียน
แล้วพาลูกออกมาข้างท่าเกวียน                      จะจากเจียนใจขาดอนาถใจ
ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                                         ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย                                  แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น                          แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญาณ์               โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง


ถอดคำประพันธ์   
         นางวันทองพาพลายงามไปฝากวัดฝ่ายพลายงามนั้นเมื่อรู้ว่าขุนช้างไม่ใช่พ่อของตน ก็ลาแม่ไปอยู่กับย่าที่กาญจนบุรี  นางวันทองกลัวขุนช้างจะตามมา จึงพาพลายงามไปฝากกับขรัวนาก สมภารวัดเขาพร้อมกับเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง  สมภารก็รับปากว่าจะดูแลให้ จนถึงเช้านางวันทองก็ห่อผ้าใส่ผ้าผ่อน  ขนม  มาให้แล้วบอกทางไปบ้านย่าที่กาญจนบุรี  พลายงามกราบลานางวันทอง แล้วบอกว่าตนจะไปหาพ่อให้พบ  ส่วนแม่นั้นแม้ว่าตนจะไม่อยู่ด้วยก็รักเสมอ  วันข้างหน้าจะกลับมาเยี่ยม

รสในวรรณคดีที่ปรากฏในคำประพันธ์
          รสสัลลาปังคพิสัย  ได้แก่บทพรรณนาถึงความโศกเศร้า คร่ำครวญเมื่อไม่สมหวัง ถูกพรากจากสิ่งรัก สูญเสียของรักทำให้เกิดอารมณ์โศกเศร้า ซึ่งบทประพันธ์ดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงความรักของแม่และลูก ที่จะต้องพลัดพรากจากกันไป
          ศฤงคารรส (รสแห่งความรัก) คือ ความซาบซึ้งในความรัก เป็นรสที่เกิดจากการรับรู้เรื่องราวความรักของตัวละคร มีทั้งความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ความรักของหนุ่มสาว
ความรักที่ปรากฏอย่างชัดเจนในบทประพันธ์ดังกล่าว ได้แก่ ความรักของแม่ลูก คือ ความรักของผู้ที่พลัดพรากจากกันหรืออยู่ห่างกันเป็นความรักที่ผิดหวัง (วิประลัมละ)
           กรุณารส (รสแห่งความเมตตากรุณาที่เกิดภายหลังความเศร้าโศก) คือ ความสงสาร เป็นรสที่เกิดจากการได้รับรู้ความทุกข์โศกของตัวละคร แล้วก่อให้เกิดความสงสาร เห็นใจ ปรารถนาจะช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ที่มาจากต้นเหตุต่างๆ กัน
           ภยานกรส (รสแห่งความกลัว ตื่นเต้นตกใจ)  คือ ความเกรงกลัว เป็นรสที่เกิดจากการรับรู้ความน่ากลัว  ได้แก่ ความกลัวที่เกิดจากการลงโทษ คือ นางวันทองกลัวขุนช้างจะตามมา จึงพาพลายงามไปฝากกับขรัวนาก สมภาร


โวหารภาพพจน์ที่ปรากฏในคำประพันธ์
พรรณนาโวหาร
          พรรณนาโวหาร คือ โวหารที่กล่าวถึงความงามของธรรมชาติ สถานที่ หรือ ความรู้สึกนึกคิดอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้ง และเกิดอารมณ์ความรู้สึก คล้อยตาม โดยใช้ถ้อยคำที่มีความไพเราะ และความหมายที่ลึกซึ้ง น่าสนใจ ให้ผู้อ่าน ประทับใจ
          ซึ่งบทประพันธ์ดังกล่าวพรรณนา นั้นก็เป็นการเรื่องเล่า ความรู้สึกก่อนเก่า สอดแทรก
ความนัย   อารมณ์ซาบซึ้งถึงความในใจ ถ่ายทอดออกไป เพื่อระบายอารมณ์ พรรณนาให้เห็น ภาพเป็นอย่างไร น้ำตารินไหล อกใจขื่นขม  ได้เป็นอย่างดี

อุปมาโวหาร 
             อุปมา  คือ  การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า    เหมือน ”    เช่น   ดุจ  ดั่ง  ราว  ราวกับ  เปรียบ  ประดุจ  เฉก  เล่ห์  ปาน  ประหนึ่ง  เพียง  เพี้ยง  พ่าง  ปูน  ถนัด  ละหม้าย  เสมอ  กล  อย่าง  ฯลฯ
ตัวอย่างจากบทประพันธ์ดังกล่าว
ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                                       ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล"

อุปลักษณ์  ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน  แต่เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  มักจะมีคำ  เป็น  คือ
ตัวอย่างจากบทประพันธ์ดังกล่าว
ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ                               เจ้าจงอุตส่าห์ทำสม่ำเสมียน

อติพจน์ หรือ อธิพจน์  คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อสร้างและเน้นความรู้สึกและอารมณ์   ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง   ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด  เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างจากบทประพันธ์ดังกล่าว
ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                                       ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น